พังผืดที่มือ ทับเส้นประสาทคืออะไร?
อาการพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทที่ชื่อว่า “มีเดียน” (Median nerve) บริเวณข้อมือ
โรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท เกิดจากอะไร?
สาเหตุของโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท มาจากการบวมและหนาตัวของเนื้อเยื่อและพังผืดบริเวณรอบๆ โพรงที่เป็นทางผ่านของเส้นเอ็นและเส้นประสาท (เรียกโพรงนี้ว่า Carpal Tunnel) เพื่อเข้าสู่ฝ่ามือของเรา ทําให้โพรงที่ข้อมือตีบแคบมากขึ้น ส่งผลให้ความดันในข้อมือสูงขึ้น และไปกดเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ซึ่งทำให้เกิกอาการหลักๆ คือ มือชา และปวดข้อมือ
เส้นประสาทมีเดียน ( Median Nerve) มีหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง เมื่อเกิดอาการมักจะชามือบริเวณนิ้วเหล่านี้ แต่ไม่ชาไปถึงนิ้วก้อย
พังผืดที่มือ ทับเส้นประสาทสามารถเป็นได้ทั้งแบบมือข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง
อาการโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (Carpal tunnel syndrome) มักมีอาการชามือมากขึ้น เมื่อข้อมือถูกเหยียด หรืองอ มากเกินไป ซ้ำๆ กัน ทำให้เกิดอาการบวม และกดทับเส้นประสาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก
- ตำแหน่งของข้อมือ ขณะใช้แป้นพิมพ์หรือเมาส์
- การสัมผัสกับการสั่นสะเทือนต่างๆ เป็นเวลานาน จากการใช้เครื่องมือช่างหรือเครื่องมือไฟฟ้า
- การเคลื่อนไหวซ้ำๆ ที่เหยียด และงอข้อมือ เช่น เล่นเปียโนหรือพิมพ์
- การกดทับซ้ำๆ จากการกระดกข้อมือ เช่น การบิดเวลาขับรถมอเตอร์ไซต์
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท?
-ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมากกว่าผู้ชาย ถึง 3 เท่า
-อายุระหว่าง 30 ถึง 60 ปี
-โรคอ้วน
-เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคข้ออักเสบ
-หญิงตั้งครรภ์
-ปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) ได้แก่ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารรสเค็มมาก การใช้ชีวิตอยู่ประจำ และดัชนีมวลกาย (BMI) สูง
-งานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของข้อมือซ้ำๆ ได้แก่
- งานสายการผลิต
- งานสายการประกอบ
- อาชีพที่ใช้คีย์บอร์ดทั้งวัน
- งานก่อสร้าง
- แม่บ้าน
ผู้ที่ทำงานในอาชีพเหล่านี้ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)
-นักกีฬา ที่ใช้ข้อมือในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
- นักเทนนิส
- นักปั่น
- นักขว้าง
อาการของพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท คืออะไร?
อาการมักพบบ่อยของโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) เนื่องจากการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve)
- ชามือบ่อยครั้ง และอาจทำสิ่งของหล่น
- รู้สึกเสียวซ่า ปวดนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง
- ความเจ็บปวด อาจร้าวขึ้นไปถึงแขน
- มีอาการปวด และชาข้อมือตอนกลางคืน ซึ่งทำให้รบกวนการนอนหลับ
- ถ้าเป็นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อของหัวแม่มืออ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบได้
การวินิจฉัยโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) โดยใช้ประวัติ และการตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายประกอบด้วยการประเมินอย่างละเอียดของมือ ข้อมือ ไหล่ และคอ เพื่อตรวจสอบสาเหตุอื่นๆ ของเส้นประสาท แพทย์จะตรวจดูที่ข้อมือ เพื่อหาความผิดปกติต่างๆ และตรวจสอบความรู้สึกของนิ้วมือ ลักษณะการชามือ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ
โดยโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท ไม่จำเป็นต้องตรวจภาพทางรังสี หรือ X-ray
วิธีการรักษาอาการพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท
การรักษาโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (Carpal tunnel syndrome) ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวดและอาการ
การรักษาโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (Carpal tunnel syndrome) มีดังนี้
การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ได้แก่
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- หลีกเลี่ยงท่าทางหรือกิจกรรม ที่ทำให้ข้อมือเราเหยียดหรืองอมากเกินไป
- การรักษาโรคพื้นฐานที่คุณอาจมี เช่น โรคเบาหวานหรือโรคข้ออักเสบ
- การใส่เฝือกอ่อนที่ข้อมือช่วงกลางคืน ให้ข้อมือของคุณอยู่ในท่าตรง จะช่วยลดอาการปวด และชามือ ช่วงกลางคืนได้
- การทำกายภาพบําบัด เช่น
-การทําอัลตราซาวน์
-การบริหารข้อมือ
-การประคบอุ่นหรือแช่น้ำอุ่น
2.ยาแก้ปวด และยาลดการอักเสบ
3.ฉีดยา
โดยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณข้อมือ เพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อและพังผืด รอบๆ เส้นประสาท
โดยส่วนใหญ่กว่า 80% มีอาการชามือ และปวดข้อมือมักดีขึ้นหลังฉีดยา
การรักษาแบบผ่าตัด
ในผู้ที่มีอาการค่อนข้างมาก รักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จึงแนะนำให้ผ่าตัด โดยเป็นการผ่าตัดเป็นการในห้องผ่าตัดเล็ก โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ได้แผลผ่าตัดขนาดเล็ก ประมาณ 1-1.5 ซม. โดยเข้าไปตัดแถบเนื้อเยื่อพังผืดบริเวณข้อมือ
หลังผ่าตัด อาการปวดข้อมือ และอาการชามือ มักดีขึ้นตามลำดับ ในเวลาไม่นาน
การป้องกันโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท
เราป้องกันโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) ได้ โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น
- การรักษาภาวะต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคข้ออักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)
- การใส่ใจในท่าทางของมือ เวลาทำงานอย่างระมัดระวัง
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ยืดข้อมือมากเกินไป
- การออกกำลังกาย กายภาพบำบัด ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
บทส่งท้าย
การรักษาโรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) ในช่วงแรกด้วยกายภาพบำบัดและการปลับเปลี่ยนวิถีชีวิต ช่วยลดการเกิดอาการของโรคในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อควรระวัง!! โรคพังผืดที่มือ ทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) ที่ไม่ได้รับการรักษา และปล่อยเรื้อรังเป็นเวลานาน เป็นเหตุนำไปสู่การบาดเจ็บของเส้นประสาทแบบถาวร ความทุพพลภาพ และการสูญเสียการทำงานของมือได้